ในบทความนี้ผมจะมาแนะนำ 10 ขั้นตอนการสร้างเว็บไซต์ WordPress และจุดที่มือใหม่มักจะผิดพลาดอยู่บ่อยๆ เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น และสามารถสร้างเว็บไซต์ได้จนสามารถใช้งานได้จริง โดยใช้งบที่ต่ำที่สุด ผิดพลาดน้อยที่สุด
ปัจจุบันการทำเว็บไซต์ด้วย WordPress เป็นเรื่องที่ง่ายสำหรับคนทั่วไปที่สนใจ ไม่ต้องเขียน CODE ก็มีเว็บไซต์ได้แล้ว มีคนสอนฟรีตามเว็บไซต์ต่างๆ หรือใน YouTube ก็ดี เยอะแยะไปหมด แต่สำหรับมือใหม่ที่พึ่งมาจับ WordPress มันก็ไม่ได้ง่ายซะทีเดียว
บางคนทำไปแล้วครึ่งทางพึ่งรู้ตัวว่าชื่อเว็บสะกดผิด, บ้างก็เลือกโฮสติ้งที่คุณภาพไม่ดี เปลี่ยนทีก็เสียไปพันกว่าบาท, บ้างก็ซื้อธีมที่แก้ไขได้ยาก ทำไปทำมาก็ต้องหาใหม่ที่ดีกว่า หรือ บางคนไฟแรงอยากทำเอง สุดท้ายก็ต้องจบที่จ้างทำอยู่ดี มาดูกันครับว่ามีอะไรบ้าง
1. คิดชื่อ Domain Name ให้จบ จำง่าย
Domain Name คือ ชื่อเว็บไซต์ เป็นส่วนเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดของเว็บไซต์ บางคนคิดว่า คิดๆ ไปก่อน จดๆ ไปก่อน แล้วค่อยเปลี่ยนทีหลังได้ แต่รู้ไหมว่า ชื่อเว็บไซต์ ถ้าเราจดไปแล้ว มันแก้ไม่ได้ ต้องจดใหม่อย่างเดียว และถ้าเว็บไซต์มันเปิดไปสักระยะแล้ว ลิงค์ของเว็บไซต์เรากระจายตามที่ต่างๆ หรือ ลูกค้าเราจำไปแล้ว อยู่ดีๆ เรามาเปลี่ยนใหม่ อาจจะทำให้ลูกค้าเข้าเว็บไซต์ไม่ได้อีกต่อไป
ฉะนั้นจะคิดชื่อ Domain ต้องคิดให้ดีๆ แล้วโดเมนที่ดีเป็นอย่างไร?
- สั้น กระชับ
- อ่านง่าย จำง่าย
- สื่อถึงแบรนด์
- มี Keyword ประกอบ
- มีความหมาย หรือ ที่มาที่ไป
2. วัตถุประสงค์ในการทำเว็บไซต์
การทำเว็บไซต์ ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ นึกจะทำก็ไปจ้างทำมาเลย โดยที่ตัวเองยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะทำไปทำไม ทำแล้วได้อะไรบ้าง ข้อนี้ผมคิดว่าเป็นข้อที่สำคัญที่สุดใน 10 ขั้นตอนการสร้างเว็บไซต์ WordPress ถ้าไม่รู้ข้อนี้อย่าพึ่งไปต่อที่เหลือ
ผมเคยมีลูกค้ามาติดต่อทำเว็บไซต์หลายครั้ง ที่มาจ้างทำเว็บไซต์ ให้ทางผมขึ้นโครงมาก่อนให้เสร็จตามตัวอย่าง แต่ข้อมูลยังไม่มีนะ ทำเสร็จส่งมอบ สุดท้ายลูกค้าก็ไม่ได้ใช้จริงสักที
เพราะว่าตอนทำเว็บไซต์ทางลูกค้าเองก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า จะทำไปทำไม ทำแล้วได้อะไร เห็นคนอื่นทำ ก็อยากทำบ้าง
จากประสบการณ์ของผมที่ผ่านมา ผมแนะนำว่า ก่อนที่เราจะไปจ้างทำเว็บไซต์ อันดับแรกเราต้องเข้าใจกันก่อนว่า เว็บไซต์คืออะไร ช่วยธุรกิจยังไงได้บ้าง หรือเราจะทำการตลาดผ่านเว็บไซต์ได้ยังไงบ้าง เป้าหมายที่จะทำจริงๆ คืออะไร นี่คือสิ่งที่เราต้องถามตัวเองก่อนเสมอ
พอเรามีเป้าหมายที่แน่ชัดแล้วว่า จะทำเว็บไซต์ไปทำไม ทำแล้วได้อะไร ช่วยธุรกิจยังไงได้บ้าง เราก็จะประสบความสำเร็จตามที่หวังครับ
จริงๆ เว็บไซต์มีประโยชน์กว่าที่คิดครับ เช่น ถ้าทำ SEO ดีๆ ก็ช่วยหาลูกค้าให้เราได้ ใช้เป็นหน้า Landing Page ไว้ยิงโฆษณาได้ เป็นแหล่งให้ข้อมูลกับลูกค้า หรือ อย่างน้อยช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับบริษัท เป็น Company Profile แบบออนไลน์ได้
3. วิเคราะห์เว็บไซต์คู่แข่งสักหน่อย
ก่อนที่เราจะเตรียมข้อมูล เพื่อจ้างทำเว็บไซต์ด้วย WordPress ผมขอแนะนำว่า ให้เราลองไปสำรวจตลาด วิเคราะห์คู่แข่งที่อยู่หน้าแรกของ Google
พิมพ์คำค้นหา หรือ Keyword ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหรือสินค้าของเรา แล้วลองดูคู่แข่งที่ปรากฏในหน้า 1 ของ Google ว่ามีใครบ้าง และคลิกเข้าเว็บไซต์แต่ละเว็บ เพื่อวิเคราะห์ต่อว่า คู่แข่งเราใส่ข้อมูลอะไรไปบ้าง ทำไม Google ถึงได้ดึงไปแสดงหน้าแรกจนได้
พอเราได้ข้อมูลเบื้องต้นแล้วว่า คู่แข่งของเราทำอะไรมาบ้าง ดีไม่ดีอย่างไร เราก็เอาผลสรุปตรงนี้ ไปเตรียมข้อมูลเพื่อลงเว็บไซต์ของเรา และถ้าให้ดีต้องทำให้ดีกว่าคู่แข่ง
4. เลือก Theme ให้ถูกใจ และ Performance ดี
WordPress Theme คือตัวโครงสร้างหลักของเว็บไซต์ ที่เกี่ยวข้องกับหน้าตาเว็บทุกส่วน และเกี่ยวข้องกับลูกเล่นต่างๆ ความสวยงาม มีทั้ง ฟรี และ Premium ซึ่งการเลือกธีมไม่ใช่ว่าจะเลือกธีมไหนก็ได้ ต้องเลือกให้ชัดเจนแต่แรก เพราะถ้าเราทำจนเสร็จแล้ว จะมาเปลี่ยนธีมทีหลัง เราจะเสียเวลาไม่ต่างอะไรกับการทำใหม่
เรื่อง Theme ผมขอแยกเป็น 2 ประเด็นครับ
- เรื่องความสวยงามของดีไซน์ ลูกเล่นเยอะ
- เรื่อง Performance : Clean Code, เบา, โหลดไว
ถ้าธีมสวย + Performance ดี มาด้วยกันจะดีมากๆ ครับ แต่เท่าที่เจอมา ธีมสวยๆ มีลูกเล่นเยอะๆ ส่วนใหญ่จะหนักทั้งนั้น ยิ่งลูกเล่นเยอะ หมายความว่าจำนวนโค้ดที่ถูกเขียน ก็จะเยอะบวมตามไปด้วยถูกไหมครับ
หลักการเลือกธีม WordPress ง่ายๆ : เลือกธีมที่เบา โหลดไว และค่อยเลือกดีไซน์สวย
อ่านเพิ่มเติม : วิธีเลือก WordPress Theme ที่มีคุณภาพ
5. หา Hosting ที่รู้ใจ WordPress
การที่เว็บไซต์จะออนไลน์ได้ จำเป็นต้องมี Domain และ พื้นที่ Web Hosting เบื้องหลังของเว็บไซต์ชื่อดัง เว็บไซต์ที่ติด SEO หน้าแรกของกูเกิล ก็คือ การเลือกใช้ Hosting ที่มีคุณภาพ โหลดได้เร็วภายใน 1-3วินาที มีความเสถียร และปลอดภัย
ลองคิดดู ถ้าเราคลิกเข้าเว็บไซต์สักเว็บ แล้วต้องรอนานกว่า 3 วินาที เราเองก็คงไม่อยากรอ ไปเข้าเว็บไซต์อื่นแทนถูกไหมครับ จากสถิติโดย Google พบว่า 53% ของผู้เข้าเว็บ จะออกจากเว็บที่โหลดช้ากว่า 3วิ หมายความว่า เรามีโอกาสที่จะสูญเสียลูกค้าไม่มากก็น้อย
Hosting ที่รู้ใจ WordPress คืออะไร? ( WordPress Hosting )
WordPress Hosting คือ เว็บโฮสติ้งที่มีการปรับจูนให้เข้ากับ WordPress ได้ดี ทั้งในแง่การติดตั้งที่ง่าย ตั้งค่าความปลอดภัย ประสิทธิภาพโดยภาพรวม รองรับ PHP Version ล่าสุด เพื่อให้ทำงานร่วมกับปลั๊กอินและธีมได้ไม่มีปัญหา และที่สำคัญมีการปรับจูนการเก็บแคช (Cache) เพื่อให้เว็บไซต์โหลดไวขึ้น
ผมเคยมีลูกค้าที่มาปรึกษา ลูกค้าไปเช่าโฮสติ้งราคาถูกไว้ก่อน ขอแค่พอใช้ได้ แต่พอมาใช้งานจริงๆ เริ่มมีปัญหาตั้งแต่ เว็บไซต์โหลดช้ามาก เวลา Update Plugin, Theme และ WordPress Core ก็อัพเดตผ่านหลังบ้านไม่ได้ เพราะโฮสติ้งที่เช่าเค้าไม่ได้ตั้งค่า Permission ให้รองรับ WordPress
ฉะนั้นเวลาเช่าโฮสติ้ง อย่าดูแต่ราคาถูกอย่างเดียว ให้ดูเรื่องคุณภาพและการดูแลด้วย
อ่านเพิ่มเติม : วิธีเลือก WordPress Hosting
6. เลือก Page Builder ให้ดี
Page Builder คือ ปลั๊กอินในการจัดหน้าของ WordPress หรือ จัดวาง Layout ให้เป็นแบบที่ต้องการ การมีระบบ Page Builder แบบ Drag & Drop ช่วยให้การจัดหน้าเว็บง่ายขึ้นมาก แต่คำถามคือ แล้วใช้ปลั๊กอินตัวไหนดีละ? มีหลายตัวเหลือเกิน เลือกไม่ค่อยถูก
ตามมาครับ ผมแนะนำให้
WordPress มีระบบ Page Builder เป็นของตัวเองนามว่า Block Editor หรือ Gutenberg ซึ่งการมาของ Block Editor ใน WordPress 5.0 เป็นต้นไป ทำให้เริ่มมาแทนที่ตัว Classic Editor ตัวเดิม แต่ตอนนั้นตัว Block ยังมีปัญหาพอสมควร
แต่ตอนนี้ Block ได้ถูกพัฒนาให้เสถียรมากขึ้น น่าใช้ และมีปลั๊กอินเสริมมากมายมาเสริมให้มันเทพขึ้นไปอีก ส่วนตัวผมชอบ Block Editor + ปลั๊กอินเสริมของ Block เช่น Kadence Blocks, Stackable, Spectra, Ultimate Blocks
อ่านคู่มือ : สอนใช้งาน Block Editor
นอกจาก Block Editor ยังมี Plugin Page Builder อื่นๆ ที่เป็น Page Builder จ๋าๆ เลย เช่น Elementor, SiteOrigin, Beaver, Visual Composer, Brizy ซึ่งแต่ละตัวก็มีดีที่แตกต่างกันออกไป แต่ส่วนใหญ่ล้วนแล้วจะหนักๆ ทั้งนั้น เพราะมันอัพฟีเจอร์ลูกเล่นกันเยอะ
สรุปแล้วเลือกตัวไหนดี? ผมแนะนำแบบนี้ครับ
- ถ้าเราซีเรียสเรื่องความเร็วในการโหลด แนะนำให้ไปทาง Block Editor
- ถ้าเราอยากได้แบบสวยจัดๆ ใช้ง่าย ลูกเล่นแพรวพราว ไป Elementor ครับ ยิ่ง Elementor Pro ยิ่งแจ่ม
แต่ตัวอื่นๆ ก็ดีนะครับ แล้วแต่ความชอบแนวทางของแต่ละตัวด้วยครับ ฟีลลิ่งมันต่างกัน ความยากง่ายต่างกัน แต่จากที่ผมทำมาเยอะ ลองมาหลายตัว สรุปว่าตามที่ผมแนะนำด้านบนครับ
อออีกอย่างครับ เวลาเลือก Theme WordPress ให้สังเกตด้วยว่ามันรองรับ Page Builder อะไร ถ้าเราเลือกธีมที่รองรับปลั๊กอินที่เราต้องการ ทุกอย่างจะง่ายขึ้น
7. จะทำ WordPress ด้วยตัวเอง หรือ จะจ้างคนทำ ค่าใช้จ่ายเบื้องต้น
การทำเว็บไซต์ WordPress กรณีทำเอง จะมีขั้นตอนและค่าใช้จ่ายแบบนึง และถ้าจ้างคนอื่นทำ ก็จะมีขั้นตอนและค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันออกไป เรามาดูว่ามันต่างกันยังไงบ้าง
กรณีทำเว็บ WordPress ด้วยตัวเอง
ถ้าเราตัดสินใจแล้วว่าจะทำเอง สิ่งที่ต้องรู้คือ ขั้นตอนต่างๆ เริ่มจากศูนย์จนเว็บออนไลน์ได้ ผมขอสรุปขั้นตอนเป็น 5 STEP ดังนี้
- STEP 1 : จดชื่อ Domain และ เช่า Hosting
- STEP 2 : ติดตั้ง WordPress
- STEP 3 : เลือก Theme, ติดตั้ง Plugin
- STEP 4 : ตั้งค่า WordPress พื้นฐาน
- STEP 5 : Go Live
อ่านคู่มือฉบับเต็ม : 5 STEP สร้างเว็บ WordPress ด้วยตัวเอง
#ค่าใช้จ่าย : จะมีแค่ค่าจด Domain และ เช่า Hosting
#ข้อดี : ประหยัดค่าใช้จ่าย หมดเพียงหลักไม่กี่พัน
#ข้อเสีย : สำหรับมือใหม่ การจะทำให้เว็บสวยได้ดั่งใจ ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องฝึกพอสมควร
กรณีจ้างทำเว็บ WordPress
สำหรับใครที่ไม่อยากเสียเวลาทำเว็บไซต์ WordPress ด้วยตัวเอง ก็สามารถหาคนที่เชี่ยวชาญด้าน WordPress ทำให้ได้ครับ แต่เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา ผมจะแชร์ให้ว่า ควรเตรียมตัวยังไงบ้าง
- เตรียมข้อมูลให้พร้อม ก่อนจ้างทำเว็บไซต์
- งบประมาณที่เตรียมไว้
- ประเภทเว็บไซต์ที่ต้องการ
- จ้างใครดี
- สอบถามผู้รับจ้างว่า ทำอะไรให้บ้างในราคาที่เสนอ
อย่างแรกที่ผมอยากจะย้ำอย่าให้พลาดคือ การเตรียมขอบเขตงาน หรือ Requirements ต้องละเอียดมากที่สุด ทั้งข้อมูล รูปแบบ ฟังก์ชันที่ต้องการ ตัวอย่างเว็บไซต์ที่ชอบ ถ้าจะเตรียมบรีฟรายละเอียดแบบไม่เคลียร์ ผมบอกได้เลยว่าโอกาสที่มีปัญหาสูงมาก
และอีกข้อที่อยากจะย้ำคือ จ้างใครดี? ฟรีแลนซ์ บริษัท หรือ เอเจนซี่ ซึ่งแต่ละประเภทจะส่งผลต่อราคาและคุณภาพงานทั้งนั้น
สุดท้าย ในเมื่อเราจะจ้างคนทำเว็บไซต์ด้วย WordPress แสดงว่าคนรับจ้างที่เรามองหา ต้องเชี่ยวชาญด้าน WordPress ด้วยนะ (WordPress Expert)
ทีมงาน teeneeweb เองก็เชี่ยวชาญเรื่อง WordPress โดยตรง สามารถปรึกษาได้ครับ อ่านรายละเอียดบริการด้าน WordPress
แนะนำให้อ่าน : จ้างทำเว็บไซต์ที่ไหนดี ราคา และการเตรียมข้อมูล
#ค่าใช้จ่าย : เริ่มต้นที่หลักหลายพันบาท หลักหมื่น จนถึงหลักแสนบาท
#ข้อดี : ได้งานคุณภาพ ตรงตามที่ต้องการ (ถ้าเจอคนจริง)
#ข้อเสีย : หากเตรียมข้อมูลไม่ดี คุยไม่เคลียร์ หรือ เจอคนทำงานชุ่ย ก็อาจจะมีปัญหาบานปลายได้
8. ปลั๊กอินพื้นฐานที่จำเป็น
ปลั๊กอิน WordPress เฉพาะของฟรีมีมากถึงเกือบ 6 หมื่นตัว และยังมีตัว Premium อีกเท่าไหร่ก็ไม่รู้ ในปลั๊กอินประเภทเดียวกัน ก็จะมีอีกเป็นร้อยตัวให้เลือก ตอนใช้งานจริงกับเว็บ เราคงไม่ได้ติดเป็นร้อยตัวหรอกนะ เพราะมันเยอะเกินจำเป็น แล้วจะรู้ได้ยังไงบ้าง ว่าตัวไหนที่จำเป็น?
เอาเป็นว่าไม่ต้องเดา ผมเลือกมาให้แล้ว ที่ใช้งานบ่อยที่สุด 11 ตัว
- 1.ปลั๊กอินสร้างฟอร์ม : Contact Form7
- 2.ปลั๊กอินความปลอดภัย : All In One WP Security
- 3.ปลั๊กอินสำรอง/ย้ายเว็บ : All-in-One WP Migration
- 4.ปลั๊กอิน SEO : Yoast SEO
- 5.ปลั๊กอินจัดหน้า : Block Editor, Elementor หรือ SiteOrigin
- 6.ปลั๊กอินร้านค้า : Woocommerce
- 7.ปลั๊กอินคัดลอกหน้า : Duplicate Post
- 8.ปลั๊กอินทำให้เว็บโหลดไว : WP Fastest Cache
- 9.ปลั๊กอินแชร์ : Seed Social
- 10.ปลั๊กอินฟอนต์ : Seed Fonts
- 11.ปลั๊กอินสไลเดอร์ : Smart Slider 3
จริงๆ อาจจะใส่ได้เพิ่มตามความต้องการ แล้วกี่ตัวถึงจะพอ? อ่านบทความนี้เพิ่มเติม : Plugin WordPress กี่ตัวถึงจะพอ?
วิธีเลือกปลั๊กอิน WordPress ที่มีคุณภาพ
9. เข้าใจพื้นฐาน SEO
ถ้าทำเว็บไซต์ไปแล้ว เว็บไม่ได้ติด Google เลย หรือไม่ได้ช่วยหาลูกค้าให้เราเลย จะมีประโยชน์อะไรถูกไหมครับ
SEO คือ การปรับแต่งเว็บไซต์ ให้ติดอันดับต้นๆ ใน Google ซึ่งมันจะมีทั้ง On-Page และ Off-page มีเทคนิคอีกมากมายที่เกี่ยวข้อง แต่อย่างน้อยต้องเข้าใจ SEO On-Page พื้นฐานก็ยังดี
การทำเว็บไซต์ ไม่ว่าจะทำด้วยตัวเอง หรือ จะจ้างคนอื่นทำ ควรเข้าใจพื้นฐานการทำ SEO อยู่บ้าง เพื่อที่เราจะได้เตรียมข้อมูลลงเว็บไซต์ได้ตรงกับเป้าหมาย SEO
ผมแนะนำแบบสั้นๆ ว่า ควรใส่ข้อมูลในเว็บไซต์ให้ละเอียดที่สุด หรือ ตอบคำถามทุกอย่างที่ลูกค้าเป้าหมายเราอยากจะรู้
แต่ถ้าอยากศึกษาเชิงเทคนิคมากขึ้น อยากให้ไปอ่านบทความนี้ครับ วิธีทำ On-Page SEO
10 ขั้นตอนการสร้างเว็บไซต์ ที่สำคัญที่สุดคือ การดูแล
สุดท้ายครับ วิธีการดูแลระบบหลังบ้านของ WordPress ซึ่งหลายคนเข้าใจผิดว่า ทำเว็บ WordPress เสร็จไปแล้ว ก็ไม่ต้องดูแลอีกเลย ผิดครับ
เว็บไซต์ก็เหมือน สิ่งของ รถ บ้าน คือต้องหมั่นดูแล เอาใจใส่ ปรับปรุงอยู่เสมอ เพื่อให้เว็บทันสมัย และมีความปลอดภัย
สิ่งที่ต้องทำหลังจากที่ทำเว็บ WordPress เสร็จไปแล้ว
- หมั่นอัพเดต WordPress, Plugin, Theme อยู่เสมอ
- กด BackUP ทันที ที่อัพเดตข้อมูลใหม่ๆ
- ตั้งค่า Security เพื่อป้องกัน Spam และ Malware
- หมั่นอัพเดตข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการ ให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา
- หากดูแลเองไม่ทัน ผมแนะนำให้หาคนที่รับดูแลเว็บไซต์
สรุป
10 ขั้นตอนการสร้างเว็บไซต์ WordPress คือ ขั้นตอนที่ผมสรุปแบบรวบรัด กลั่นจากประสบการณ์ของผมเอง เพื่อให้เพื่อนๆ ไม่เจ็บตัวเยอะ ผิดพลาดง่ายที่สุด ผมเข้าใจว่ากว่าจะมีเว็บสักเว็บไม่ใช่เรื่องง่ายเลย สำหรับคนที่ไม่เคยทำ ฉะนั้นลองทำตามที่ผมแนะนำไปครับ