WordPress VS Wix ควรใช้ตัวไหนดีที่สุด? เทียบปอนด์ต่อปอนด์

WordPress VS Wix ตัวไหนดีกว่า? [ข้อดี - ข้อเสีย]

ผมค้นหาในกูเกิลเล่นๆ เกี่ยวกับการสร้างเว็บไซต์ ปรากฏว่ามีคนถาม “WordPress VS Wix ตัวไหนดีกว่า?” เยอะมาก เลยเป็นที่มาของบทความนี้

WordPress และ Wix เป็นเครื่องมือสร้างเว็บไซต์ทั้งคู่ แต่ในความเหมือน ก็มีจุดที่แตกต่างกันในหลายเรื่อง โดยที่ Wix เป็นเครื่องมือสร้างเว็บสำเร็จรูป ในขณะที่ WordPress เป็น CMS หรือ Content Management System

ในบทความนี้ผมจะมาเทียบให้ดูว่า ระหว่าง WordPress VS Wix ตัวไหนน่าใช้กว่ากัน ข้อดี-ข้อเสีย ของแต่ละเพลตฟอร์ม ท้ายที่สุดจบบทความนี้ เพื่อนๆ น่าจะพอมีคำตอบขึ้นมาบ้างแหละว่า เลือกตัวไหนถึงจะเหมาะกับความต้องการของเรา

ในบทความนี้ผมจะพูดถึง WordPress.org ไม่ใช่ WordPress.com ความแตกต่างระหว่าง .org กับ .com

เกริ่นนำ WordPress และ Wix คืออะไร

WordPress เป็นระบบสร้างเว็บไซต์ หรือ CMS (ส่วนตัวผมเรียกว่าเป็น ระบบทำเว็บกึ่งสำเร็จรูป) ต้องจด Domain และ Hosting ด้วยตัวเอง มีระบบหลังบ้านของตัวเอง มีจุดเด่นในเรื่องของการ Customize หรือปรับแต่ สามารถเพิ่มฟีเจอร์ได้ไม่จำกัดด้วยระบบ Plugin และยังสามารถปรับแต่งดีไซน์ได้อิสระด้วยระบบ Theme สามารถทำเว็บไซต์ได้ทุกรูปแบบ

Wix เป็นระบบสร้างเว็บไซต์สำเร็จรูป ที่ให้พื้นที่ Hosting เรียบร้อย สามารถทำเว็บไซต์ได้หลากหลายรูปแบบเช่นเดียวกับ WordPress แต่มันมีความต่างอยู่ในหลายๆ เรื่อง wix มีจุดเด่นในเรื่องของการปรับแต่งที่ง่าย และออนไลน์เว็บไซต์ได้ไว

แต่โดยพื้นฐานแล้ว ทั้ง WordPress และ Wix มีแก่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือ

  • WordPress : ยืดหยุ่นและปรับแต่งได้อิสระ เราสามารถปรับแต่งเว็บไซต์ให้ได้ตามที่ต้องการ และเขียน CODE พัฒนาต่อยอดได้อิสระตามความสามารถ
  • Wix : ใช้ง่ายเหมาะสำหรับผู้เริ่มต้น เป็นระบบเว็บสำเร็จรูป ที่เตรียมธีมและฟังก์ชันการใช้งานสำหรับคนที่ไม่รู้โค้ด เหมาะสำหรับเว็บไซต์ธรรมดา ที่เน้นดีไซน์

WordPress ทำให้เราเป็นเจ้าของเว็บไซต์ได้ 100% เนื่องจากเราต้องจด Domain และ เช่า Hosting ด้วยตัวเอง ควบคุมเองได้ทั้งหมด และยังสามารถปรับแต่งได้ 100%

ในขณะเดียวกัน…

Wix เราจะไม่เป็นเจ้าของข้อมูล 100% เหมือน WordPress พื้นที่ Hosting จะเป็นของระบบ Wix ( Domain เราสามารถจดชื่อตามต้องการได้ ) เมื่อไหร่ที่เราไม่ได้ต่ออายุค่าแพคเกจ ข้อมูลจะสูญหายทั้งหมดทันที

ทำเว็บไซต์ด้วย WordPress VS Wix ง่ายกว่ากัน?

ถ้ามองในแง่ของการทำเว็บไซต์ด้วยความง่าย และทำเว็บสวยแบบไวๆ แน่นอนว่า Wix ชนะ

แต่ Wix ไม่ได้ยืดหยุ่นในการปรับแต่งในขั้นสูง มันเป็นเครื่องมือทำเว็บไซต์พื้นฐาน เว็บไซต์ข้อมูลธรรมดาทั่วไป ไม่ได้มีฟังก์ชันเฉพาะ เช่น เว็บไซต์บริษัท เว็บไซต์ที่เน้นข้อมูลและดีไซน์

WordPress ก็ยังใช้งานง่ายอยู่ ผมมองว่า อาจจะมีขั้นตอนหลายขั้นตอนในช่วงแรก ตั้งแต่การจดโดเมน เช่า WordPress Hosting จนถึงการติดตั้ง WordPress แต่ถ้าอดทนศึกษาอีกนิดผมว่าเพื่อนๆ ทุกคนน่าจะทำได้ไม่ยากครับ เพราะสมัยนี้มีคนสอนเยอะแยะไป

แนะนำให้อ่านบทความ…

ขั้นตอนการทำเว็บไซต์ด้วย Wix

สมัครสมาชิก คลิกที่ปุ่ม Sign In บนขวา

สมัครสมาชิก Wix
สมัครสมาชิก Wix

เลือกตอบคำถามด้านซ้าย เพื่อให้ Wix เลือกดีไซน์ที่เหมาะกับเรา หรือ เลือก Template ด้านขวามือโดยตรง *ในที่นี้ผมจะลองเลือกจาก Template ให้เพื่อนๆ ดูครับ

เราสามารถเลือกดีไซน์ตาม Template ที่มีให้แล้ว จะมีรูปแบบให้เราเลือกเยอะมาก แนะนำให้ค้นหาตามประเภทเว็บไซต์ หรือไม่ก็ เลือกตามหมวดหมู่หลักๆ ถ้าชอบดีไซน์ตัวไหนก็สามารถคลิก Edit เข้าไปใช้งานได้เลย

เลือก Template
เลือก Template

ระบบการแก้ไขของ Wix จะเป็นแบบ Drag & Drop หรือเรียกแบบไทยๆ คือ ลากๆ วางๆ คลิกแก้ไขแล้วเห็นผลลัพธ์ได้เลย

Domain เราสามารถใช้ URL ที่ Wix สร้างให้แบบฟรีๆ ก็ได้ เช่น teeneeweb.wixsite.com แต่มันดูไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ และยังสามารถเชื่อมกับชื่อ Domain ของเราเองได้

Wix : ตั้งค่าโดเมน
Wix : ตั้งค่าโดเมน

จะเห็นได้ว่า การทำเว็บไซต์ด้วย Wix แทบไม่ต้องใช้ความรู้เชิงเทคนิคอะไรเลย และไม่ต้องเขียนโค้ด ส่วนที่เหลือก็ต้องไปศึกษาวิธีการใช้งานในส่วนต่างๆ ตั้งแต่การจัดวางเมนู การจัดหน้า การตั้งค่าต่างๆ เพื่อให้เว็บไซต์สมบูรณ์

คู่มือการใช้งาน Wix

ขั้นตอนการทำเว็บไซต์ด้วย WordPress

STEP 1 : จดชื่อ Domain (ชื่อเว็บไซต์) และ เช่าพื้นที่ Hosting

การจดโดเมนและเช่าพื้นที่ Hosting ไม่จำเป็นต้องจดที่เดียวกันกับโฮสติ้ง แต่ถ้าจะให้แนะนำ ให้จดที่เดียวกัน เวลาต่ออายุจะได้ต่อพร้อมกัน

…แนะนำให้อ่านบทความ WordPress Hosting ผมได้เขียนอย่างละเอียดมากเกี่ยวกับโฮสติ้ง พร้อมแนะนำ WordPress Hosting ที่มีคุณภาพ จากที่เคยใช้มา

หลังๆ นี้ผมมักจะแนะนำ Hostatom(รายละเอียด Hostatom) เพราะจากที่ลองใช้กับลูกค้าหลายเว็บ บริการและคุณภาพดีคุ้มกับราคาที่จ่ายไป

หลังจากได้จด Domain และเช่า WordPress Hosting เรียบร้อย จำเป็นต้องเชื่อม Name Server ให้เรียบร้อย เพื่อให้ทั้งสองอย่าง Active หรือ เชื่อมต่อกัน ถ้าไม่รู้ขั้นตอน แนะนำให้ถามบริษัทโฮสติ้งที่ไปเช่า

STEP 2 : ติดตั้ง WordPress

วิธีติดตั้ง WordPress มี 2 วิธีหลักๆ

STEP 3 : เลือก Theme

Theme WordPress มีทั้งแบบ Free และ Premuim(เสียเงิน) ถ้าไม่ได้เน้นเรื่องดีไซน์ ใช้ธีมฟรี ก็น่าจะเพียงพอแล้ว ถ้าต้องการ Option การตั้งแต่งได้เยอะ ดีไซน์สวย แนะนำให้ซื้อธีม Premium สวย ปรับแต่งได้ง่าย เลือกดีไซน์ได้จาก Demo ของธีม แนะนำให้เลือกธีมที่ขายดี รีวิวงามๆ ที่เว็บไซต์ Themeforest.net

และอีกข้อดีของ Theme Premium คือ มันมีระบบลงตัวอย่าง Demo ให้เรา ติดตั้งแบบคลิกเดียวผ่านระบบ One Click Installation

STEP 4 : ตั้งค่า WordPress

ถัดมาก็จะเป็นในส่วนของ การตั้งค่า WordPress พื้นฐานที่จำเป็น และปรับแต่งหน้าเว็บ แก้ไขข้อมูล อ่านคู่มือการตั้งค่าพื้นฐาน

STEP 5 : Go Live

ได้เวลาเปิดตัวเว็บไซต์อย่างเป็นอย่างการ และอย่าลืมขั้นตอนสุดท้ายที่สำคัญที่สุด หากไม่ทำเว็บไซต์เราจะไม่ถูกจัดอันดับบน Google คือ การอัพเว็บไซต์ขึ้นสู่ Google Search Console เป็นเครื่องมือของ Google ที่ช่วยวิเคราะห์เว็บไซต์ของเรา ให้เว็บไซต์ปรากฏในการค้นหาบน Google รวมถึงช่วยรายงานปัญหาให้เราด้วยนะ

Theme

Wix มีธีม หรือ Template ให้เราเลือกใช้ประมาณ “794 ธีม” ซึ่งก็น่าจะเป็นตัวเลือกที่เพียงพอ สำหรับสร้างเว็บไซต์ทุกหมวดหมู่เว็บไซต์

WordPress เฉพาะธีมฟรีที่อยู่ใน WordPress.org/themes มีทั้งหมดประมาณ “3,941 ธีม” แต่อย่าลืมว่านี่เฉพาะธีมฟรีเท่านั้น ซึ่ง WordPress จะมี Theme ที่มีคนพัฒนาขึ้นมาทุกวัน กระจายขายกันทั่วโลก เดาว่ามีหลักแสนอัพแน่นอน แต่แหล่งซื้อ-ขาย WordPress Theme ที่ยอดนิยม คือ Themeforest.net

การใช้ Theme และการปรับแต่ง

Wix การแก้ไขปรับแต่งธีม หรือการจัด Layout จะเป็นรูปแบบ Drag & Drop อย่างแท้จริง (ลากๆ วางๆ) เราสามารถจัดวาง ย้ายวิดเจ็ตต่างๆ และเห็นผลลัพธ์ทันทีเลย ทำให้ง่ายมาก สำหรับผู้เริ่มต้น

Wix : การปรับแต่ง Theme
Wix : การปรับแต่ง Theme

WordPress สามารถปรับแต่งธีมผ่านระบบ “Customizer” เราสามารถปรับแต่ง Options หรือ การตั้งค่าธีม รูปแบบการจัดหน้าต่างๆ สามารถปรับเปล่ยนค่อนข้างยืดหยุ่นมากๆ

ส่วนในเรื่องของการจัดหน้า Layout เราสามารถติดตั้งปลั๊กอินจัดหน้า หรือ Page Builder ซึ่งก็มีการทำงานคล้ายกับ Wix แต่อาจจะต่างกันในเรื่องรูปแบบการใช้งาน ปลั๊กอินจัดหน้าตัวดังๆ ก็จะมี Elementor, WPBakery, SiteOrigin, Gutenberg เป็นต้น อ่านต่อ ปลั๊กอินจัดหน้า WordPress

WordPress : การปรับแต่งธีม
WordPress : การปรับแต่งธีม

สรุปเรื่อง Theme

Wix สามารถเลือกธีม ได้จากเท่าที่ Wix เตรียมมาให้เราเท่านั้น ไม่สามารถที่จะพัฒนา หรือ ปรับแต่งที่นอกเหนือจากที่เค้าให้มา ข้อดีคือ ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้น

WordPress มีตัวเลือกธีมแบบ Free และ Premuim มีจำนวนเยอะกว่า wix แบบเทียบไม่ติด เพราะมีนักพัฒนาทั่วโลกพัฒนาอยู่ทุกวัน และปรับแต่งได้ยืดหยุ่นมาก เพียงแต่ต้องเรียนรู้เยอะหน่อยในช่วงแรกๆ

เพลตฟอร์มไหน “ยืดหยุ่น” กว่ากัน

Wordpress vs Wix ตัวไหน “ยืดหยุ่น” กว่ากัน
WordPress vs Wix ตัวไหน “ยืดหยุ่น” กว่ากัน

WordPress

WordPress เป็นเพลตฟอร์มที่ใช้เวลาในการเรียนรู้สูง (Learning Curve) ในขณะเดียวกัน มันก็ “ยืดหยุ่นสูงมาก” สำหรับผู้เริ่มต้น น่าจะยากตอนเริ่ม เพราะเราต้องไปเช่า WordPress Hosting เช่าโดเมนด้วยตัวเอง และติดตั้ง WordPress (ปัจจุบันบริษัทโฮสติ้งส่วนใหญ่ มีระบบการติดตั้งแบบ 1-Click ให้ติดตั้งแบบง่ายๆ หมดแล้ว)

สามารถเพิ่มความสามารถด้วยการติดตั้ง “Plugin” เสริม ซึ่งปลั๊กอินในเวิร์ดเพรสมีเป็นหลักหลายหมื่นตัว ครอบคลุมทุกประเภทการใช้งาน

สามารถเลือก “Theme” ได้อิสระ หากอยากได้สวยๆ ก็ซื้อธีมในเว็บ Themeforest มีให้เลือกเยอะมากๆ เช่นเดียวกับปลั๊กอิน

หาก Plugin หรือ Theme ที่มีอยู่ทั้งแบบฟรีและพรีเมี่ยม ไม่ตอบโจทย์กับการใช้งาน ก็สามารถพัฒนา หรือ เขียนโปรแกรมขึ้นมาเองได้ ถ้าทำเองไม่เป็น สามารถหาคนที่เชี่ยวชาญด้าน WordPress มาพัฒนาเฉพาะส่วนก็ได้เช่นกัน

สรุป : ใช้เวลาเรียนรู้มากกว่า,​ ยืดหยุ่นมากกว่า

Wix

Wix ใช้งานง่าย เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้น อยากทำเว็บไซต์ด้วยตัวเอง แต่มีความยืดหยุ่นต่ำ เพราะมันคือระบบสร้างเว็บไซต์สำเร็จรูป ทุกอย่างถูกเตรียมไว้ให้เรียบร้อยแล้ว

สามารถเพิ่มความสวยด้วยการเลือก “Template” ที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เลือก แต่เราไม่สามารถพัฒนาเพิ่มเติมได้

แต่ก็ยังสามารถเพิ่มฟังก์ชัน โดยการเพิ่ม App ได้ ผ่านระบบ “App Market Home” แต่ข้อเสียคือ มันมีจำนวนน้อย มีอย่างจำกัด เราไม่สามารถพัฒนาเพิ่มเติมได้

สรุป : ใช้เวลาเรียนรู้น้อยกว่า,​ ยืดหยุ่นน้อย

WordPress vs Wix ต้นทุนราคาทำเว็บ

WordPress

ต้นทุนราคาทำเว็บไซต์ด้วย WordPress.org : ถึงแม้ว่าตัว WordPress เองมีให้โหลดให้เราใช้ฟรีๆ แต่ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกเล็กน้อย ที่เราต้องจ่าย

  • Domain : ปกติแล้วราคาไม่แพงราวๆ “100-1,000” บาท แล้วแต่ Dot ปกติแล้วผมจะเช่าที่ Ruk-Com
  • Hosting : ขึ้นอยู่กับประเภทโฮสติ้ง และสเปคที่ต้องการ ประมาณ​ “500-5,000” บาท สำหรับเว็บขนาดเล็ก ปกติแล้วผมจะเช่าโฮสไทยที่ Ruk-Com และต่างประเทศที่ Siteground (แนะนำให้อ่านบทความ แนะนำ WordPress Hosting)
  • Plugin : ฟรี! แต่ถ้าต้องการปลั๊กอินพิเศษเจ๋งๆ สามารถซื้อได้ที่เว็บไซต์ Themeforest
  • Theme : ฟรี! แต่ถ้าต้องการ Theme WordPress สวยๆ สามารถซื้อได้ที่ Themeforest

สรุป : ทำเว็บไซต์ด้วย WordPress.org (ด้วยตัวเอง) ใช้งบประมาณ “1,000-5,000” บาท โดยประมาณ

ทั้งนี้ กรณีที่เราไม่อยากทำเอง สามารถจ้างทำเว็บไซต์ด้วย WordPress ได้ทั่วไป และทางผมเองก็ยินดีรับปรึกษาให้กับเพื่อนๆ ครับ

Wix

ต้นทุนราคาทำเว็บไซต์ด้วย Wix : แพคเกจราคาของ Wix สำหรับเว็บไซต์ทั่วไปจะมี 4 แพคเกจ คือ Connect Domain, Combo, Unlimited, VIP ราคาอยู่ที่ 4$ – 24$ ต่อเดือน ซึ่งแต่ละแพคเกจก็จะแตกต่างกันในเรื่องสเปคการใช้งาน

เช็คแพคเกจราคา Wix

ราคา Wix สำหรับเว็บไซต์ทั่วไป
ราคา Wix สำหรับเว็บไซต์ทั่วไป

สำหรับการทำเว็บไซต์ร้านค้าออนไลน์ หรือ เว็บไซต์ eCommerce จะมีอีกแพคเกจราคาโดยเฉพาะ มี Business Basic, Business Unlimited, Business VIP ราคาอยู่ที่ 17$ – 35$ ต่อเดือน

ราคา Wix สำหรับเว็บไซต์ eCommerce
ราคา Wix สำหรับเว็บไซต์ eCommerce

สรุป

  • ทำเว็บไซต์ด้วย WordPress.org ใช้ต้นทุนประมาณ “100-5,000” บาท
  • ทำเว็บไซต์ด้วย Wix ใช้ต้นทุนประมาณ “4$ – 24$” ต่อเดือน

การทำเว็บไซต์ eCommerce

ทั้งสองเพลตฟอร์ม สามารถทำร้านค้าออนไลน์ได้ทั้งคู่ โดยที่ Wix มีระบบ eCommerce ติดตัวมาอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ยืดหยุ่น ในขณะที่ WordPress ต้องติดตั้งปลั๊กอินเสริม ชื่อ WooCommerce มีให้ใช้งานฟรี

ระบบร้านค้าของ WordPress

การทำระบบร้านค้าออนไลน์บน WordPress จำเป็นต้องติดตั้งปลั๊กอินเสริม ชื่อ “WooCommerce” มีให้โหลดใช้ฟรีๆ การันตียอดใช้งานมากกว่า 5+ ล้าน ซึ่งเป็นปลั๊กอินชื่อดังที่มีคนใช้เยอะมาก

ปลั๊กอิน WooCommerce ของ WordPress
ปลั๊กอิน WooCommerce ของ WordPress

จุดเด่นของ WooCommerce

  • ยืดหยุ่น ด้วยการติดตั้ง Plugin เสริมเพื่อเพิ่มความสามารถของร้านค้า มีปลั๊กอินเสริมเกือบทุกอย่างเท่าที่นึกได้
  • Theme สามารถปรับแต่งธีมสำเรับร้านค้าโดยเฉพาะ ผ่านการ Overide
  • APi สามารถเชื่อมต่อกับ Api ภายนอกได้อิสระ เช่น เชื่อมต่อกับระบบ Stock,​ ระบบ Payment, Logistics เป็นต้น
  • Custom Plugin หากเราเขียนโค้ดได้ เรายังสามารถเขียนปลั๊กอินพิเศษขึ้นมา เพื่อเพิ่มฟีเจอร์เฉพาะให้กับร้านค้าได้

ระบบร้านค้าของ Wix

เราสามารถสร้างร้านค้าบน Wix ผ่านการเลือก Template Demo ที่มีอยู่ในระบบ แค่นี้เราก็จะมีตัวอย่างระบบร้านสวยๆ (ดูภาพด้านล่าง) ให้เราพร้อมใช้งาน

Wix eCommerce store
Wix eCommerce store

และยังมีระบบหลังร้านให้เราใช้งานง่ายๆ เหมาะสำหรับร้านค้าขนาดเล็กจนถึงขนาดกลาง ไม่ได้มีฟังก์ชันซับซ้อนมาก แต่ข้อเสียคือ มันไม่ได้ยืดหยุ่นเหมือน WordPress ไม่สามารถพัฒนาต่อยอดได้ เขียนโค้ดเพิ่มไม่ได้ เพราะมันคือระบบสำเร็จรูปดีๆ นั้นเองครับ

จุดเด่นของ Wix

  • สร้างร้านค้าง่ายๆ ในคลิกเดียว ก็ได้ตัวอย่างพร้อมใช้งาน
  • ใช้งานง่าย เหมาะสำหรับคนที่ไม่ชอบความซับซ้อน
  • เหมาะสำหรับร้านค้าขนาดเล็ก-กลาง ไม่ได้มีฟังก์ชันซับซ้อน

สรุป WooCommerce หรือ Wix?

ถ้ามองในแง่ของความสวยเรียบ ความง่ายในการใช้งาน ตั้งค่าไม่ซับซ้อน ก็ต้องยกให้ Wix แต่ถ้ามองในเรื่องความยืดหยุ่นในการปรับแต่ง การใช้งานก็ไม่ได้ยากมาก ต่อยอดได้อิสระเลย ก็ต้องยกให้ WooCommerce

ในแง่ของการทำ SEO

จะว่าไป ถ้าพูดถึงการทำ SEO เชื่อว่าเพื่อนๆ น่าจะคงคิดว่าประเด็นหลักน่าจะอยู่ที่การเขียน Content เจ๋งๆ แซงหน้าคู่แข่ง แต่ในแง่ของความสะดวกในการทำ SEO ตัวช่วยในการปรับแต่งตามหลัก การทำ SEO Onpage ก็สำคัญไม่แพ้กัน เช่น

  • การปรับแต่ง SEO title, Meta Description
  • Sitemap ที่ Google เข้าถึงง่าย
  • การใส่ Alt ในแต่ละรูปภาพ
  • การปรับแต่ง url ที่เป็นมิตรต่อ SEO
  • การรองรับมือถือ
  • ระบบช่วยวิเคราะห์ความถูกต้องของโครงสร้าง SEO

ahrefs ได้ศึกษาและเปรียบเทียบทั้งสองเพลตฟอร์ม WordPress VS Wix SEO เค้าได้วิเคราะห์จาก 6.4 ล้านเว็บไซต์ พบว่า 46.1% เป็นเว็บที่ทำด้วย WordPress ที่ถูกค้นเจอใน Organic Traffic (การค้นหาแบบปกติ ไม่ใช่ Ads) ส่วน Wix เจอเพียง 1.4%

การทำ SEO บน WordPress และ Wix
การทำ SEO บน WordPress และ Wix

WordPress ตัวอย่างการปรับแต่ง SEO

บน WordPress จะมีปลั๊กอินสำหรับทำ SEO โดยตรง เช่น Yoast SEO ซึ่งจะช่วยเราได้มาก ในเรื่องของพื้นฐาน เช่น Title, Description, ช่วยวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ,​ การตั้งค่า Schema, ตั้งค่าสำหรับ Social etc…

Yoast SEO บน WordPress
Yoast SEO บน WordPress

การตั้งค่า SEO บน Wix จะต่างกันในแง่ของฟังก์ชันการใช้งาน รูปแบบการตั้งค่า ตามรูปภาพด้านล่าง

การตั้งค่า SEO บน Wix
การตั้งค่า SEO บน Wix

สรุป

ส่วนตัวจากที่ใช้งาน ผมค่อนข้างชอบ Yoast ของ WordPress มากกว่า เพราะมันมีฟังก์ชันพื้นฐานครบ ใช้งานเข้าใจง่ายดี และที่ชอบที่สุดคือตัวช่วยวิเคราะห์การทำ SEO Onpage

สุดท้ายแล้ว โครงสร้างที่ถูกต้องก็ส่วนหนึ่งที่ทำให้เว็บไซต์ติดอันดับ และอีกส่วนที่สำคัญมากๆ คือ การเขียน Content ที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายของเรานั้นเองครับ

ตารางเปรียบเทียบ WordPress vs Wix

#WordPressWix
ความยาก-ง่ายปานกลางง่าย
ความยืดหยุ่นสูงมากต่ำ
จำนวน Theme3,941794
Plugin / App57,xxx300+
ความเป็นเจ้าของเราWix
ต้นทุน100-5,000/ปี4$ – 24$/เดือน
เหมาะกับใคร?ผู้มีพื้นฐานผู้เริ่มต้น

สรุป

WordPress VS Wix ต่างคนต่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างชัดเจน WordPress เกิดมาเป็นโอเพ่นซอร์ส มีความยืดหยุ่นในการพัฒนาต่อยอดสูง ในขณะที่ Wix เกิดมาเพื่อเป็นระบบสร้างเว็บสำเร็จรูป ทุกอย่างถูกเตรียมไว้หมดแล้ว

ผมขอสรุปปิดท้ายอีกครั้งว่า WordPress เหมาะสำหรับคนที่มีพื้นฐานการทำเว็บมาบ้าง หรือไม่ก็อดทนศึกษาได้ และ Wix สำหรับผู้เริ่มต้นทำเว็บ คนทั่วไปที่ไม่มีพื้นฐานเลยก็ใช้ได้

About The Author