ปี 2020 เป็นอีกปีที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกี่ยวกับเว็บไซต์ เข้ามาตลอดเวลาแทบจะทุกวัน ฝั่ง WordPress ล่าสุดพึ่งปล่อย WordPress 5.6 ไป บ่งบอกว่ามีการอัพเดตตัวเองไม่หยุดเช่นกัน
สำหรับ “เว็บไซต์ WordPress ปี 2021” เรามาเช็คด้วยกันทีละข้อ ว่าควรปรับปรุงจุดไหนกันบ้าง
จากประสบการณ์ที่ผมรับงานทำเว็บให้ลูกค้า ยังมีเว็บไซต์ที่ทำด้วย WordPress อีกเยอะ ที่ยังเป็นรุ่นเก่า ไม่รองรับมือถือ (Responsive), ออกแบบมาไม่ดี, ปัญหาเว็บโหลดช้า ฯลฯ ซึ่งไม่ว่าจะทำเว็บเอง หรือ จ้างทำ อย่างน้อยก็ควรเช็คตามหัวข้อที่ผมแนะนำ เพื่อให้เว็บไซต์มีคุณภาพ และช่วยธุรกิจได้มากที่สุด
1. รองรับมือถือ (Responsive Web)
Responsive Web คือ การทำเว็บไซต์ให้รองรับการเปิดในหลายอุปกรณ์ ทำให้การแสดงผลใน Desktop, Mobile, Tablet จะยืดหยุ่นไปตามขนาดหน้าจอ โดยที่ข้อความและรูปภาพ ยังคงชัดในทุกหน้าจอ ไม่ต้องซูมเข้าออกเพื่ออ่าน
เว็บไซต์ที่ไม่รองรับมือถือ เวลาเปิดกับมือถือ เราจะเห็นข้อความเล็กมาก จนต้องซูมเข้า-ออก เลื่อนซ็าย-ขวา ตลอดเวลา ทำให้เราอ่านยากมาก
เว็บไซต์ที่ทำด้วย WordPress ส่วนใหญ่ Theme รองรับ Responsive ทั้งหมดแล้ว
การท่องเว็บไซต์ผ่านมือถือ กลายเป็นเรื่องธรรมดาในตอนนี้ จากสถิติคนเข้าเว็บผ่านมือถือ เกิน 50% ไปแล้ว และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต
Google ประกาศชัดแล้วว่า ในเดือน “มีนาคม 2021” เว็บไซต์ที่ไม่รองรับมือถือ จะไม่ถูกจัดอันดับอีกต่อไป ตามหลัก Mobile-First Indexing อ่านเพิ่มเติม
เตรียมตัวสำหรับ Mobile-First Indexing
“Content” ต้องแสดงผลให้เหมือนกัน ทั้งใน Desktop และ Mobile ตามหลัก Mobile-first indexing ระบบจะเก็บข้อมูลอ้างอิงข้อมูลในมือถือเป็นหลัก ถึงแม้ว่าเว็บเราเป็นแบบ Responsive แล้ว แต่ถ้ามีข้อมูลบางส่วนเราแสดงเฉพาะใน Desktop โดยซ่อนใน Mobile หมายความว่า Google จะจัดอันดับเฉพาะที่เห็นในมือถือเท่านั้น
“Lazy-loading” ถ้าแปลตามตรงก็น่าจะเป็น การโหลดแบบขี้เกียจ ^-^ คือ มันจะโหลดภาพและวิดีโอเมื่อเรา scroll ไปถึง ทำให้เบราเซอร์ไม่ต้องโหลดทั้งก้อน โหลดแค่บางส่วนมาก่อน ทำให้การโหลดเว็บไซต์ไวขึ้น ตอนนี้และปีหน้า เราน่าจะได้ยิน Lazy-loading บ่อยขึ้นเรื่อยๆ เพราะมันจะกลายเป็นมาตรฐานที่ทุกเว็บไซต์ควรใส่ไว้
WordPress 5.5 ได้บรรจุฟีเจอร์ Lazy-loading มาให้เป็นฟังก์ชันพื้นฐานให้เรียบร้อย แต่ถ้าใช้พวกปลั๊กอินเสริม ก็น่าจะมีฟีเจอร์นี้เช่นกัน
“Images” ตรวจสอบให้แน่ใจว่า รูปภาพที่เราใส่ในเว็บไซต์ เวลาเปิดใน Mobile ภาพมีความคมชัด และขนาดไม่เล็กเกินไป เพราะถ้าภาพเราคุณภาพต่ำและเล็ก (Low-quality) อาจจะไม่ถูกแสดงใน Google Images
อ่านเพิ่มเติม วิธีเตรียมตัวสำหรับ Mobile-first indexing
2. ปรับปรุงเว็บไซต์ให้โหลดไวขึ้น
ทำไม “เว็บโหลดเร็ว” จึงสำคัญ?
เรามาดูตัวเลขชัดๆ จาก Think with Google เป็นสถิติจาก Mobile Page Speed
- 1วิ – 3วิ : มีโอกาสที่คนออกจากเว็บไซต์ 32%
- 1วิ – 5วิ : มีโอกาสที่คนออกจากเว็บไซต์ 90%
- 1วิ – 6วิ : มีโอกาสที่คนออกจากเว็บไซต์ 106%
- 1วิ – 10วิ : มีโอกาสที่คนออกจากเว็บไซต์ 123%
หมายความว่า ยิ่งเว็บไซต์โหลดช้าลง ก็ยิ่งทำให้คนออกจากเว็บไซต์เรามากขึ้น ยิ่งสมัยนี้คนเข้าเว็บผ่าน Mobile มากขึ้น ความอดทนก็ต่ำ
ถ้ามองกลับกัน เว็บไซต์ที่โหลดเร็ว นอกจากมีผลในด้าน ประสบการณ์การใช้งาน (User Experience) ยังช่วยให้อันดับ SEO บน Google ดีขึ้นด้วยนะ
สาเหตุที่ทำให้เว็บไซต์โหลดช้า
- รูปภาพ : รูปภาพมีน้ำหนักมากเกินไป ไม่ได้บีบอย่างถูกต้อง
- Hosting : ใช้ WordPress Hosting ที่คุณภาพแย่
- แคช : ไม่ได้ตั้งค่าการเก็บแคชอย่างถูกต้อง
- ปลั๊กอิน : ใช้ปลั๊กอินที่ไม่มีคุณภาพ ติดตั้งเยอะเกินจำเป็น (วิธีเลือก Plugin เกรด A)
- ลิงค์ภายนอก : ลิงค์ภายในอกเยอะไป เช่น Facebook, Google Font, Icon, Ads, Analytics, Youtube เป็นต้น
3 เครื่องมือเช็ค Page Speed
- 1. GTmetrix : เป็นตัวที่ผมใช้บ่อยที่สุด เพราะมันบอกข้อมูลเชิงเทคนิคได้ค่อนข้างลึก
- 2. Google PageSpeed Insights : ควรใช้ควบคู่ไปกับ GTmetrix
- 3. Pingdom Website Speed Test : เป็นอีกตัวที่บอกข้อมูลปัญหาเชิงเทคนิคได้เยอะมากเช่นกัน
9 วิธีทำให้ wordpress โหลดเร็ว
- 1. จัดการรูปภาพให้เบา
- 2. เลือก WordPress Hosting ที่รู้ใจ WordPress
- 3. ติดตั้งปลั๊กอิน Cache
- 4. เลือก Theme ที่เบา และได้มาตรฐาน
- 5. เชื่อม Cloudflare’s
- 6. ติดตั้งปลั๊กอิน เท่าที่จำเป็นต้องใช้
- 7. ใช้ PHP Version 7.x
- 8. ทำความสะอาด Database
- 9. ใช้ External scripts ให้น้อยที่สุด
ในหัวข้อนี้ผมพยายามสรุปใจความสำคัญเท่านั้น เพื่อไม่ให้บทความยืดยาวเกินไป ผมแนะนำให้ไปอ่านต่อ บทความที่ผมตั้งใจเขียนเกี่ยวกับ Speed ล้วนๆ ว่าทำไมเว็บโหลดเร็วจึงสำคัญ, สาเหตุ, เครื่องมือ และ วิธีแก้ไขปัญหา
3. อัพเดต ปรับปรุง Content เก่าๆ
จริงอยู่ว่า การเขียน Content ใหม่ๆ เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการหาทราฟฟิคกลุ่มใหม่ๆ แต่ยังมีอีกวิธีนึงที่สามารถเพิ่มยอดทราฟฟิคได้เช่นเดียวกัน คือ การอัพเดตข้อมูลเก่าๆ ที่เคยใส่ไป
ซึ่งบทความเก่าอาจจะดีอยู่แล้วก็ได้ แต่อยากให้ลองทำการ Research วิเคราะห์คู่แข่ง วิเคราะห์การใช้คำ Keyword ใหม่ๆ วิเคราะห์พฤติกรรมการค้นหาของกลุ่มเป้าหมาย ว่ายังคงเหมือนเดิมหรือไม่ มี Keyword ใหม่ๆ ที่น่าสนใจและการแข่งขันต่ำหรือเปล่า
ลองวางกลุยทธ์ใหม่ๆ เผื่อว่ามันจะดีกว่าเดิม
เล่าประสบการณ์ : มีบทความนึงใน teeneeweb นี้แหละครับ เป็นบทความเก่าที่ผมเคยเมื่อ 3 ปีก่อน ซึ่งตอนนั้นผมยังไม่แม่นเรื่องการวาง Position ของ Keyword หรือเป้าหมายของบทความ ไม่รู้ว่าบทความนั้น จะเน้นไปทางไหนกันแน่
แต่เมื่อปีที่แล้ว ผมมาอัพเดตใหม่ โดยที่ยึดหลัก 1 Keyword แล้วหา Keyword รองๆ มาสัก 5-7 ตัว เป็นแนว Long-tail Keyword มาเสริม หลังจากมาปัดฝุ่นใหม่ เรียบเรียงใหม่ ทำให้บทความนั้น สามารถดึง Traffic เข้ามาในเว็บ เป็นอันดับต้นๆ และติดอันดับ 1-5 มาปีกว่าแล้ว
4. SEO On-Page พื้นฐาน
SEO คือ การปรับแต่งเว็บไซต์ให้ถูกใจ Google เพื่อให้เว็บไซต์เราทยานไปสู่หน้าแรกของ Google ซึ่งถ้าจะให้พูดถึงการทำ SEO มันกว้างมากครับ แต่ถ้าเริ่มต้นแบบเป็นขั้นเป็นตอน ก็ทำได้ไม่ยากมากครับ
โชคดีที่เว็บไซต์ WordPress มีเครื่องไม้เครื่องมือพร้อมอยู่แล้ว ขอแค่เราค่อยทำทีละขั้นตอน ใช้เครื่องมือและตั้งค่าให้ถูกต้อง
ซึ่งผมเคยสรุป 11 ขั้นตอนสำคัญ วิธีการทำ SEO บน WordPress
ถ้าเพื่อนๆ ตั้งค่าพื้นฐานครบทุกอย่างแล้ว ตามบทความบรรทัดบน ขั้นต่อไป ก็จะเป็นการทำ SEO On-page
SEO On-page เป็นการปรับแต่งหน้าแต่ละหน้า บทความต่างๆ ให้มีโครงสร้างถูกต้องตามหลัก SEO ซึ่งต่อให้บทความเจ๋งแค่ไหน ถ้าโครงสร้างไม่ถูกต้อง ก็อาจจไม่ติดอันดับก็ได้ ฉะนั้น โครงสร้างพื้นฐานสำคัญมากๆ
ผมได้สรุป 14 ขั้นตอนการทำ SEO On-Page บน WordPress ลองไล่อ่านทีละข้อครับ
ทำครบทุกขั้นตอนแล้ว จะติดหน้าแรกใช่ไหม?
คำตอบคือ ไม่เสมอไปครับ เพราะว่า เทคนิคการปรับแต่ง SEO เป็นแค่ฟันเฟืองนึงเท่านนั้น
ขอให้จำไว้ว่า “แก่นของ SEO” คือ Content ครับ หมายถึง เราต้องเขียน Content ให้มีคุณภาพ เพื่อตอบคำถามคนที่กำลังค้นหา แล้วบวกกับการปรับแต่ง SEO เชิงเทคนิคเพิ่มเติม แค่นี้โอกาสขยับสู่หน้าแรกก็ไม่ยากแล้วครับ
5. ลงปลั๊กอินพื้นฐานที่จำเป็น
อย่างที่ทราบว่า Plugin WordPress มีปลั๊กอินให้เลือกใช้หลักหลายหมื่นตัว มีทั้งปลั๊กอินฟรี เสียเงิน ตัวที่ยอดนิยม ตัวที่แย่ สะสมกันไป แต่ในทั้งหมดนี้ จะมีปลั๊กอินไม่กี่ตัว ที่ส่วนใหญ่เว็บไซต์ WordPress ต้องใช้ *จากประสบการณ์ที่เคยทำเว็บไซต์ WordPress ให้ลูกค้ามาเยอะ
ปลั๊กอินที่ผมจะแนะนำ เป็นตัวที่ผมใช้อยู่ มีการปรับปรุงอัพเดตมาตลอด มีความปลอดภัย และมียอดติดตั้งรวมทั่วโลกเยอะมากๆ
11 Plugin WordPress พื้นฐานที่ผมแนะนำ
- 1.ปลั๊กอินสร้างฟอร์ม : Contact Form7
- *2.ปลั๊กอินความปลอดภัย : All In One WP Security
- *3.ปลั๊กอินสำรอง/ย้ายเว็บ : All-in-One WP Migration
- *4.ปลั๊กอิน SEO : Yoast SEO
- 5.ปลั๊กอินจัดหน้า : Page Builder by SiteOrigin
- 6.ปลั๊กอินร้านค้า : Woocommerce
- 7.ปลั๊กอินคัดลอกหน้า : Duplicate Post
- *8.ปลั๊กอินทำให้เว็บโหลดไว : WP Fastest Cache
- *9.ปลั๊กอินแชร์ : Seed Social
- *10.ปลั๊กอินฟอนต์ : Seed Fonts
- *11.ปลั๊กอินสไลเดอร์ : Smart Slider 3
อ่านบทความฉบับเต็ม 11 Plugin WordPress พื้นฐานแนะนำ
11 ปลั๊กอินที่ผมแนะนำไป ไม่จำเป็นต้องลงทั้งหมดนะครับ ที่ผมใส่เป็น (*) คือส่วนใหญ่ทุกเว็บไซต์ใช้ แต่ถ้าเพื่อนๆ คล่องแล้ว ไปเล่นตัวอื่นได้ครับ
6. ใส่ใจ Security *รวมถึงการเลือกโฮสติ้ง
ส่วนใหญ่เว็บไซต์ที่ทำด้วย WordPress โดน Hack มาจากการที่แอดมิน หรือ เจ้าของเว็บไซต์ ละเลยการอัพเดต WordPress, Plugin, Theme ทำให้มีโอกาสเปิดช่องโหว่ให้โดนเจาะเข้ามาได้
WordPress ถ้าเราดูแลอย่างถูกวิธี โอกาสที่จะโดนแฮก ถือว่ายากมากครับ
ฉะนั้นเรามาดูกันว่า เราต้องทำอะไรบ้าง เพื่อให้เว็บไซต์ WordPress สุดที่รักของเรา มีความปลอดภัยอยู่เสมอ
อัพเดต WordPress, Plugin, Theme
ทั้ง WordPress, Pugin และ Theme จะมีเวอร์ชั่นใหม่ๆ ออกมาเป็นระยะ ซึ่งทุกครั้งที่มีการออกเวอร์ชั่นใหม่ หนึ่งในนั้นเป็นการอัพเดต เรื่องความปลอดภัย เพราะฉะนั้น ต้องอัพเดตสม่ำเสมอ
แต่ก่อนคลิกอัพเดต ควร BackUP ก่อนเสมอครับ
ติดตั้งปลั๊กอิน Security
ปกติแล้วผมจะใช้ปลั๊กอิน “All In One WP Security” สามารถตั้งค่าได้ค่อนข้างครอบคลุมครับ การลงปลั๊กอินความปลอดภัย ก็ถือว่าเป็นการป้องกันอีกชั้นนึง ที่ไม่ควรละเลยครับ
เลือก WordPress Hosting ที่มีคุณภาพ
ผมเชื่อว่ายังมีหลายท่าน ที่เลือก Hosting จากราคาเป็นหลัก อันไหนถูกกว่าเลือกเจ้านั้นแหละ แต่อย่าลืมว่าคุณภาพที่ได้ก็ตามราคา ความสามารถในการป้องกันไวรัสต่างๆ ก็ไม่ดี
ถ้าเป็นไปได้ ให้เลือกโฮสติ้งที่คุณภาพมาก่อนอันดับแรก ราคากลางๆ หรือ เลือกจากเจ้าไหนคนใช้เยอะสุด ก็น่าจะบ่งบอกว่ามีคุณภาพดี ซึ่งในไทยโฮสติ้งที่ได้ยินชื่อบ่อยๆ มีไม่กี่เจ้า
ผมได้เขียนบทความอย่างละเอียด วิธีการเลือก WordPress Hosting
7. รีดีไซน์
ReDesign คือ การออกแบบใหม่ ทั้งการออกแบบหน้าตาดีไซน์ใหม่ ให้สวยทันสมัยกว่าเดิม และที่สำคัญ ต้องออกแบบดีไซน์ให้เข้าใช้งานผ่าน Mobile ได้ง่ายๆ เพราะมีนาคม 2021 กูเกิลจะเลิกจัดอันดับเว็บไซต์ที่ไม่รองรับมือถือแล้ว
ตัวอย่างเว็บไซต์ wordpress ที่ผมทำเว็บให้ลูกค้า
นอกจากการออกแบบใหม่ในแง่หน้าตาเว็บ ผมแนะนำให้รีดีไซน์ในแง่ของการตลาดด้วยครับ ลองไปทำ Keyword Research ว่า พฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายของเรายังคงเหมือนเดิมอยู่หรือเปล่า
ตอนนี้และอนาคต พฤติกรรมการเข้าใช้งานเว็บไซต์ จะเปลี่ยนไปตลอดเวลา สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือ การเข้าใช้งานผ่าน Mobile จะเยอะขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้นเวลาออกแบบ ก็ต้องคิดเรื่องการเปิดกับมือถือ เป็นอันดับแรกเสมอครับ
สรุป
ปี 2021 ผมเชื่อว่าเป็นปีที่ท้าท้ายสำหรับหลายๆ ธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิดโดยตรง ธุรกิจที่พึ่งพาเว็บไซต์เป็นหลัก ผมเชื่อว่ามันสามารถช่วยให้ธุรกิจอยู่รอด ถ้าปรับปรุงเว็บไซต์อย่างสม่ำเสมอ
สำเรับเว็บไซต์ WordPress ปี 2021 ผมสรุปเป็น 7 ประเด็น ที่เราต้องมานั่งเช็คเว็บไซต์ WordPress ของเรา เพื่อให้เว็บยังคงสดใหม่ มีคุณภาพ มีความปลอดภัย ช่วยธุรกิจได้มากที่สุด หวังว่าบทความนี้ จะเป็นประโยชน์แก่เพื่อนๆ ไม่มากก็น้อยครับ